การมีส่วนร่วมของประชาชนและการประชาสัมพันธ์
วัตถุประสงค์ของการมีส่วนร่วมของประชาชน
1. เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและรับฟังความคิดเห็น การศึกษาความเหมาะสม การออกแบบรายละเอียด และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในงานการยกระดับทางรถไฟในเขตเมืองสระบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร
2. เพื่อให้สาธารณชนได้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของงานการยกระดับทางรถไฟในโครงการ พร้อมทั้งสร้าง “แนวร่วม” จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ ให้เกิดความเข้าใจยอมรับ และมีส่วนร่วมกับการรถไฟฯ ในการผลักดันโครงการไปสู่ความสำเร็จ
3. เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายได้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล และข้อเสนอแนะ โดยนำความเห็นที่ได้มาประกอบการศึกษา เพื่อให้การพัฒนาโครงการสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของโครงการ
แนวทางการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
แนวทางการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนของโครงการได้พิจารณาให้สอดคล้อง กับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของ สผ. ฉบับเดือนสิงหาคม 2566
การดำเนินงานในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน มุ่งเน้นการเชื่อมโยงความคิดในทุกมิติ และการสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียอย่างครอบคลุม โดยมีบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างประชาชนและผู้ดำเนินโครงการ เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ (Two-way Communication) และครอบคลุมถึงการให้คำแนะนำและคำปรึกษาหารือ (Consultation) กับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ โดยกำหนดให้มีบุคลากรหลัก ประกอบด้วย ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม ด้านวิศวกรรม และด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อนำเสนอ ชี้แจง และรับฟังข้อมูลจากประชาชน
โดยกำหนดวิธีการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้ 3 ช่วง คือ
ช่วงที่ 1 แนะนำโครงการกับแกนนำทางความคิดในพื้นที่ ซึ่งกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนจะเน้นการให้ข้อมูลโครงการในทุกระดับ และเน้นกลุ่มเป้าหมายระดับผู้วางแนวนโยบาย เช่น การแนะนำโครงการให้กับผู้บริหารในพื้นที่ ครอบคลุมไปถึงผู้นำแผนไปปฏิบัติโดยการให้ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญในพื้นที่ประกอบด้วย การแนะนำโครงการต่อผู้บริหารในพื้นที่ระดับจังหวัดและการแทรกวาระการประชุมและสัมภาษณ์เชิงลึก (ต่อเนื่องตลอดโครงการ)
ช่วงที่ 2 สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ เป็นการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงและร่วมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะ โดยเน้นกลุ่มผู้นำทางด้านความคิด และผู้มีส่วนได้เสียของโครงการในรูปแบบโครงการที่ได้รับการคัดเลือก ประกอบด้วย 4 กิจกรรม ดังนี้
(1) การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ 1
(2) การประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 (การประชุมกลุ่มแกนนำทางความคิด/ผู้มีส่วนได้เสียในระดับตำบล)
(3) การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ 2
(4) การประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 (การประชุมกลุ่มแกนนำทางความคิด/ผู้มีส่วนได้เสียในระดับตำบล)
ช่วงที่ 3 สรุปผลการศึกษาของโครงการ เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาในประเด็นต่าง ๆ ที่ชัดเจน ทั้งด้านวิศวกรรมการออกแบบ มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผลการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ 3
กลุ่มเป้าหมายของโครงการ
การกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนและการประชาสัมพันธ์จะพิจารณาจากผู้มีส่วนได้เสียครอบคลุมทุกภาคส่วนตามแนวทางการจำแนกผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของ สผ. ฉบับเดือนสิงหาคม 2566