ความเป็นมาโครงการ

ด้วยคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้พิจารณาเรื่องของประธานหอการค้าจังหวัดสระบุรี ขอการสนับสนุนยกรางรถไฟในเขตเมืองสระบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ที่มีถนนพหลโยธินผ่านเมืองตัดกับทางรถไฟ เกิดปัญหาจากการจอดรอรถไฟวิ่งผ่านหลายขบวน ซึ่งหอการค้าจังหวัดสระบุรีได้ร่วมกับภาคเอกชนนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาจราจร โดยเสนอยกรางรถไฟในเขตเมืองสระบุรี ตลอด 7 กิโลเมตร จะเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างสมบรูณ์ และจังหวัดสระบุรีได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดสระบุรี (กรอ.จ.สระบุรี) ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ที่ประชุมมีมติขอความอนุเคราะห์การรถไฟฯ พิจารณาให้มีการยกระดับทางรถไฟรางคู่เดิม บริเวณจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี โดยขอให้การรถไฟฯ พิจารณาศึกษาความเหมาะสม/ความเป็นไปได้ และแนวทางการดำเนินการยกระดับทางรถไฟรางคู่เดิม เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในเขตชุมชนเมือง

เพื่อให้การแก้ไขปัญหาจราจรในเขตชุมชนเมืองสระบุรี ตามที่หอการค้าจังหวัดสระบุรีร่วมกับภาคเอกชนจังหวัดสระบุรี เสนอขอให้ยกระดับทางรถไฟเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีการศึกษารูปแบบ ออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของการยกระดับทางรถไฟในเขตเมืองสระบุรีเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรให้เป็น ไปตามหลักวิศวกรรมและขั้นตอนต่อไป

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ดังต่อไปนี้

ศึกษารูปแบบทางด้านวิศวกรรม โดยการพิจารณารูปแบบการก่อสร้างโครงสร้าง ในช่วงที่เป็นจุดตัด เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง และเสนอโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นให้สอดคล้องกับสภาพ ภูมิประเทศและสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน และจัดทำรายงานการศึกษารูปแบบการก่อสร้างที่มีความเหมาะสมของโครงการ ออกแบบเพื่อเชื่อมโยงระบบและโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับระบบการขนส่งรูปแบบอื่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพให้ครบถ้วนสมบูรณ์

สำรวจ ออกแบบรายละเอียดทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ประมาณราคาค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและจัดทำเอกสารประกวดราคาเพื่อการก่อสร้าง รวมทั้งการวางแนวเส้นทาง กำหนดแนวเขตทาง การวางรูปแบบโครงสร้างในช่วงที่เป็นจุดตัดกับโครงการอื่น เสนอโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ออกแบบเพื่อเชื่อมโยงระบบและโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับระบบการขนส่งรูปแบบอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA)

ขอบเขตของงาน

งานส่วนที่ 1 งานศึกษาข้อมูลรายละเอียดของรูปแบบเบื้องต้น

1.รวบรวม และศึกษาข้อมูลพื้นฐานพร้อมทั้งวิเคราะห์การดำเนินงานของโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ศึกษาแล้วเสร็จและที่อยู่ระหว่างการศึกษาและเป็นนโยบายปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ของโครงการนี้

2.ศึกษาโครงข่ายคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสำหรับรองรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเข้าสู่สถานีและย่านขนส่งสินค้า (ถ้ามี) พร้อมให้คำแนะนำในการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมโครงข่ายคมนาคม เพื่อให้การรถไฟฯ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3. ศึกษาผลกระทบต่อส่วนงานหรือโครงการอื่น

4. จัดทำแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) และการประมาณราคาค่าก่อสร้างเบื้องต้น

5 ผู้ให้บริการจะต้องศึกษาการจัดทำแผนงานก่อสร้าง โดยลำดับวิธีการก่อสร้างเป็นขั้นตอน (Construction Methodology) ตามเทคนิควิธีการก่อสร้างที่เหมาะสม

6. ผู้ให้บริการจะต้องศึกษาประโยชน์ที่ได้รับหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างทางยกระดับทางรถไฟในเขตเมืองสระบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร เช่น การประหยัดมูลค่าในการเดินทาง การประหยัดมูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

7. ศึกษาการพัฒนาพื้นที่และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟฯ โดยการหารายได้เชิงพาณิชย์ให้กับการรถไฟฯ ในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งพื้นที่ใต้ทางยกระดับ

งานส่วนที่ 2 งานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) และจัดทำเอกสารประกวดราคา
  1. งานสำรวจแนวเส้นทางโครงการ และจัดทำแผนที่แสดงภูมิประเทศ แผนที่แสดงเขตที่ดิน และแผนที่แสดงสาธารณูปโภค
  2. สำรวจสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรื้อย้าย และผู้บุกรุกที่เข้ามาในแนวเขตที่ดินของการรถไฟฯ ที่จะดำเนินการก่อสร้าง พร้อมทั้งประมาณราคาค่ารื้อย้าย และค่าชดเชย โดยให้เป็นไปตามระเบียบของราชการที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)
  3. การสำรวจด้านธรณีวิทยา และปฐพีวิทยา
  4. สำรวจตรวจสอบพื้นที่รับน้ำ สิ่งก่อสร้างที่กีดขวาง (คลอง แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ ฯลฯ) ระบายน้ำ รวมทั้ง สะพาน ช่องน้ำ และระบบระบายน้ำตลอดแนวเส้นทาง วิเคราะห์ และพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อประเมินขีดความสามารถในการระบายน้ำของสะพาน ช่องน้ำตามแบบก่อสร้างที่จัดทำไว้เดิม และปรับปรุง ออกแบบแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันและในอนาคต
  5. สำรวจ ตรวจสอบ บริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนนของทางผ่านเสมอระดับเดิมและการออกแบบการจัดการจราจรในบริเวณที่ต้องทำการก่อสร้างโครงการ ให้มีผลกระทบต่อการสัญจรทางถนนในระหว่างการก่อสร้างน้อยที่สุด
  6. ติดต่อประสานงานและขออนุญาตกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ฯลฯ ซึ่งมีหน้าที่อนุญาต และจำเป็นต้องขออนุญาตทำการก่อสร้างหรืออนุญาตใช้พื้นที่ ภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ เพื่อจัดทำแบบรายละเอียดให้สอดคล้องกับข้อกำหนด กฎเกณฑ์ ระเบียบ คำสั่ง และมาตรฐานต่าง ๆ รวมถึงแผนการพัฒนาหรือแผนงานก่อสร้างของหน่วยราชการนั้น ๆ
  7. จัดทำรายงานหลักเกณฑ์ และมาตรฐานในการออกแบบ (Detailed Design Criteria and Standards)
  8. ดำเนินการออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) ตามมาตรฐานการออกแบบของการรถไฟฯ หรือมาตรฐานสากล
  9. ดำเนินการออกแบบงานระบบอาณัติสัญญาณ และระบบโทรคมนาคม พร้อมศูนย์ควบคุมระบบอาณัติสัญญาณทางไกล (Centralized Traffic Control : CTC) ตามมาตรฐานของการรถไฟฯ
  10. ประมาณราคาค่าก่อสร้าง (Cost Estimate) จากแบบรายละเอียดที่จัดทำเสร็จสมบรูณ์แล้ว ราคาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ต้องเป็นราคาปัจจุบัน งานก่อสร้างแต่ละรายการแต่ละชนิดของงานจะต้องมีรายละเอียด (Back-up Sheet) ที่แสดงปริมาณงาน ราคาต่อหน่วยอย่างชัดเจน และรายการสรุปให้ครบถ้วน พร้อมจัดทำข้อมูลดังกล่าวในรูปของ Digital File ในรูปแบบต้นฉบับที่สามารถแก้ไขราคาต่อหน่วยแล้วปรับเป็นราคาค่าก่อสร้าง ณ ปัจจุบันได้ทันที ทั้งนี้ จะต้องจัดทำให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างที่ได้รับความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 หรือที่ประกาศใช้ล่าสุด แนวทาง วิธีปฏิบัติ และรายละเอียดประกอบการถอดแบบคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง ตามคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ คณะอนุกรรมการราคากลางงานก่อสร้าง ตุลาคม 2560 หรือฉบับแก้ไขล่าสุดและสอดคล้องกับระเบียบราชการหรือระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นค่าก่อสร้างที่สามารถนำไปเสนอ ขออนุมัติวงเงินลงทุนและนำไปใช้เป็นราคาอ้างอิงประกอบการพิจารณาผลการประกวดราคาได้อย่างเหมาะสม
  11. งานจัดทำแผนงานก่อสร้าง (Detailed Work Plan)
  12. จัดทำแผนงานด้านความปลอดภัย และมาตรการในการป้องกันอุบัติเหตุ (Safety and Protection Measures)
  13. จัดทำเอกสารประกวดราคา (Tender Document) ให้สมบูรณ์มีรายละเอียดครบถ้วน
  14. นอกจากผู้ให้บริการจะต้องดำเนินการตามที่ระบุไว้ในขอบเขตงานนี้แล้วจะต้องดำเนินการอื่นใดตามที่จะพึงเห็นได้ว่าเป็นภาระหน้าที่ของผู้ให้บริการ รวมทั้งดำเนินการอื่นใดตามที่อาจรับมอบหมายเป็นลายลักษณ์ อักษรจากการรถไฟฯ ซึ่งต้องสอดคล้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ ทั้งนี้ หากผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่และความรับผิดชอบที่ระบุไว้ในขอบเขตงานนี้แล้ว การรถไฟฯ จะพิจารณาแนวทางดำเนินการหรือพิจารณาบทลงโทษต่อไป

งานส่วนที่ 3 งานศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA)

ดำเนินการสำรวจ ศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) โครงการงานยกระดับทางรถไฟในเมืองสระบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ให้เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ปีล่าสุด ปรับปรุงแก้ไข จัดทำรายงานฯ ตามรูปแบบและรายการที่เปลี่ยนแปลง ตามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนให้สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และหรือแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของ สผ. ที่สอดคล้องตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ประกอบด้วยอย่างน้อย ดังนี้

1. การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผู้ให้บริการจะต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเด็นที่สำคัญอย่างละเอียด ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในลักษณะของผลกระทบระยะสั้นและระยะยาว ศึกษาผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถและไม่สามารถนำมาใช้ใหม่ การประเมินผลกระทบต้องแสดงในเชิงปริมาณมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และต้องพิจารณาถึงผลกระทบในลักษณะสะสม โดยศึกษาผลกระทบทั้งในลักษณะเตรียมการในระหว่างการก่อสร้าง และในระยะดำเนินการ

2. ผู้ให้บริการจะต้องมีการนำเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้ประกอบการประเมินผลกระทบ โดยระบุถึงชนิดของผลกระทบที่ประเมินเป็นตัวเงินได้และไม่ได้ พร้อมทั้งแสดงเหตุผลประกอบ

3. ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ครอบคลุมพื้นที่โครงการ และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดผลกระทบ ให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำ เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และข้อกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

4. การศึกษา สำรวจ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) และจะต้องนำเสนอขอรับความเห็นชอบตาม พรบ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 โดยผ่านการพิจารณาจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ตามลำดับ ในกรณีที่ สผ. หรือ คชก. หรือ กก.วล. มีความเห็นให้แก้ไขรายงานหรือให้ทำการศึกษาเพิ่มเติม ผู้ให้บริการจะต้องรับไปดำเนินการเร่งรัดจัดทำรายงานให้สมบรูณ์ครบถ้วนและส่งมอบให้การรถไฟฯ โดยไม่มีเงื่อนไข และจะต้องให้ความช่วยเหลือการรถไฟฯ ในการชี้แจงข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ จนกว่ารายงานฯ จะผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว เป็นขั้นตอนหลังจากผู้ให้บริการได้ส่งมอบรายงานฯ แล้วจึงอยู่นอกเหนือกรอบระยะเวลาการดำเนินงานตามที่ระบุไว้ในข้อ 5

5. จัดทำแผนงานการมีส่วนร่วมของประชาชนพื้นที่การศึกษา โดยแผนงานจะต้องสอดคล้องกับการดำเนินงานในทุกขั้นตอนของการศึกษา

6. เผยแพร่ข้อมูลของโครงการ และดำเนินการตามกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างน้อยประกอบด้วยงาน ดังนี้

  • จัดคณะบุคลากรหลัก โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม ด้านวิศวกรรม และด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อนำเสนอ ชี้แจง และรับฟังข้อมูลจากประชาชน ซึ่งคณะบุคลากรทั้งหมดจะต้องจัดเตรียมเอกสาร และข้อมูลการนำเสนอต่อการรถไฟฯ เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนที่จะนำเสนอจริงต่อประชาชน
  • เผยแพร่ข้อมูลของโครงการ และดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 หรือระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง
  • จัดทำแผนประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงงานสนับสนุนการปฏิบัติ งานข่าวสาร (Information Operation) เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาโครงการ
  • ทำการประชาสัมพันธ์โครงการ ทั้งทางสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รวมทั้งสื่อต่าง ๆ จัดการประชุมใหญ่ และประชุมกลุ่มย่อย จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการจัดทำสารคดีหรือเอกสารเผยแพร่หรือการจัดทำนิทรรศการ เพื่อประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ได้รับทราบข้อมูลโครงการ
  • จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์โครงการที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและอื่น ๆ ได้รับทราบและเข้าใจข้อมูลโครงการพร้อมทั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาโครงการ
  • จัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ในพื้นที่ศึกษาเพื่อรับฟังข้อมูลจากประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมจัดทำรายงานผลสรุปจากการประชุม

7. มาตรการป้องกัน บรรเทาแก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะต้องอธิบายถึงการดำเนินงานเพื่อหลีกเลี่ยง ป้องกัน แก้ไข และลดความเสียหายที่อาจมีต่อสิ่งแวดล้อมในประเด็นต่าง ๆ และจะต้องนำเสนอมาตรการสำรองไว้อย่างชัดเจน สำหรับในกรณีที่มาตรการนั้น ๆ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอตามที่ได้ประเมินไว้ นอกจากนี้ แม้ว่าเมื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในบางประเด็นแล้ว พบว่า ไม่มีผลกระทบเพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นในระดับที่มีนัยสำคัญก็ตาม แต่หากสามารถที่จะปรับปรุงหรือส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยรอบโครงการให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ ก็ต้องแสดงแนวทาง และมาตรการที่เหมาะสมและเป็นไปได้ประกอบไว้ด้วย

8. มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผู้ให้บริการจะต้องนำเสนอมาตรการติดตาม ตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในประเด็นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโครงการจนถึงโครงการได้เปิดดำเนินการแล้ว นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงมาตรการในการตรวจสอบว่าได้มีการนำเอามาตรการป้องกัน แก้ไข บรรเทา และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ได้เสนอไว้ไปปฏิบัติจริง และดำเนินการได้อย่างถูกต้องครบถ้วน ตรงตามที่ระบุไว้ในรายงาน

9. ประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่กำลังศึกษาเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ทั้งภายในประเทศ หรือต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลและประเมินความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อโครงการ